ร้อยตำรวจเอก ดร. นิติภูมิ นวรัตน์ (ชื่อเล่น: หมู; 5 มิถุนายน พ.ศ. 2503 — ) เกิดที่ บ้านดงกลาง ตำบลเขาสมิง อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด แต่มาเติบโตที่บ้านซึ้งล่าง ตำบลวันยาว อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี บิดาชื่อ มิ่ง อยู่พร้อม มารดาชื่อ เชื้อน อยู่พร้อม (สกุลเดิมกลิ่นอยู่ มีเชื้อสายสกุลชัชวาลย์, พูลเกษม และเจริญลาภ) มีเชื้อสายฝ่ายแม่เป็นคนจีนแซ่ลี้ และบรรพบุรุษบางสายมาจากอินเดีย เขานับถือศาสนาพุทธ จบการศึกษาระดับปริญญาเอกทางประวัติศาสตร์ จากสถาบันเอเชียและแอฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยมอสโก อดีตสหภาพโซเวียต เดิมนามสกุล อยู่พร้อม แต่เปลี่ยนมาใช้นามสกุลของบิดาบุญธรรมคือ หม่อมราชวงศ์เชาวน์ นวรัตน์ (บุตรหม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ อดีตผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรี)
สำเร็จมัธยมศึกษาตอนปลาย (แผนกวิทยาศาสตร์) จากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จันทบุรี (ได้รับการคัดเลือกเป็นศิษย์เก่าเกียรติภูมิ วาระครบรอบ 90 ปี พ.ศ. 2544 และวาระครบรอบ 100 ปี พ.ศ. 2554)
จากนั้น ได้รับทุนสโมสรโรตารีจันทบุรีเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมแห่งเมืองเซ็นต์เออร์นาด รัฐวิกตอเรีย เครือรัฐออสเตรเลีย
ในเวลาเดียวกันก็เรียนชั้นปริญญาตรี สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (รหัสนักศึกษา 23600406)
เคยเรียนปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ ประเภท External Program ของมหาวิทยาลัยลอนดอน (เลขทะเบียนนักศึกษา U927066998) แต่ไม่สำเร็จ
เคยเป็นนิสิตปริญญาโทภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เลขประจำตัวนิสิต B735197)
จบปริญญาเอกปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ สถาบันเอเชียและแอฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย (เลขปริญญา ??? No. 003699 เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541)
สำเร็จหลักสูตรผู้มีคุณวุฒินิติศาสตร์บัณฑิตและรัฐศาสตร์บัณฑิตเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร รุ่นที่ 15 จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
ภายหลังสำเร็จการศึกษาหลักสูตรสูงสุดจากวิทยาลัยการตำรวจ (บตส.31) วิทยาลัยการทัพบก (วทบ.51) วิทยาลัยมหาดไทย (นปส.57) วิทยาลัยการยุติธรรม (บ.ย.ส.11) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.2555/วปม.6) สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.5) และ สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง (พตส.5)
พ.ศ. 2549 นิติภูมิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร 164 ได้รับคะแนนเป็น อันดับ 1 ของกรุงเทพมหานคร คือ 257,420 คะแนน ชนะนายสมัคร สุนทรเวช,นายกล้านรงค์ จันทิก, นางสาวรสนา โตสิตระกูล, นายอุทัย พิมพ์ใจชน, นายพิจิตต รัตตกุล และผู้สมัครอื่นรวมทั้งหมด 260 คนของกรุงเทพมหานคร และได้ที่ 1 จากผู้สมัครทั่วประเทศ ขณะรอการรับรอง มีการปฏิวัติรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อ 19 กันยายน พ.ศ. 2549
พ.ศ. 2549 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ระหว่างนั้นทำหน้าที่เป็นโฆษกกรรมาธิการการพาณิชย์ ประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-ฮังการี กรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา (IPU) และกรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทยในสมัชชารัฐสภาอาเซียน
จากนั้นก็สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเมื่อ 8 มกราคม พ.ศ. 2553 และเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 24 ของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เขาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 24 ของรัฐสภาไทย จนกระทั่งมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาเมื่อ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556
ระหว่างเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 เขาดำรงตำแหน่ง รองประธานคนที่ 1 ของคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ นอกจากนั้น ยังเป็นรองประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-อินเดีย หน่วยบริหารประจำชาติไทยในสหภาพรัฐสภา (IPU)
เคยปฏิบัติหน้าที่สำคัญเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมคณะกรรมาธิการเตรียมการจัดการประชุมรัฐสภาว่าด้วยองค์การการค้าโลก ณ สำนักงานรัฐสภายุโรป กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม 2555 หัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมรัฐสภาว่าด้วยองค์การการค้าโลก ณ สำนักงานองค์การการค้าโลก นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส 2555 ผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมรัฐสภาในโอกาสการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 68 ณ สำนักงานใหญ่ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา 2556
เป็นผู้อำนวยการสถาบันเอเชียและแอฟริกาศึกษาของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งและติวเตอร์ภาษาอังกฤษประจำสถาบันบาลานซ์ (ติวเตอร์หมู) เป็นคอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "เปิดฟ้าส่องโลก" ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์รายการ "เปิดเลนส์ส่องโลก" ทางช่อง 3
ร้อยตำรวจเอก ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ มีชื่อเสียงในประเทศไทยเรื่องการเดินทาง โดยเขาเริ่มเดินทางตระเวนโลกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2521 ในขณะที่มีอายุ 17 ปี ไปเครือรัฐออสเตรเลียและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น 1 ปี ในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยนโรตารี และหลังจากนั้นเริ่มเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ
วิธีการให้การศึกษา ต้องการให้บุตรรู้ 3 ระดับ คือ ชนบท ราชอาณาจักรไทย และต่างประเทศ ต้องการให้บุตรมีคุณลักษณะ 3 ประการ คือ วิญญาณไทย ใจสากล และตัวตนเทคโนโลยี จึงส่งบุตรเรียนจนจบชั้นประถม 6 จากโรงเรียนวัดในชนบท ให้อยู่กับตายายและหมู่ญาติ จากนั้นจึงส่งเสริมให้ศึกษาต่อที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในกรุงเทพฯ ก่อนที่ จะให้เข้าสู่สังคมนอกประเทศ โดยส่งเสริมให้ศึกษาในโรงเรียนนานาชาติ หรือไปต่างประเทศ